โพลีสไตรีน (Polystyrene) คือพลาสติกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด เช่นกล่องพลาสติก กล่องโฟม เป็นวัสดุที่ยากต่อการรีไซเคิลและย่อยสลาย ส่วนใหญ่แล้วจะจบลงด้วยการฝังดินหรือไม่ก็ถูกทิ้งลงมหาสมุทร แต่ทว่าล่าสุดนักวิจัยพบ “หนอน” ที่สามารถกินและย่อยพลาสติกพวกนี้ได้แล้ว
งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Microbial Genomics โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ค้นพบตัวอ่อนของด้วงดำ (Zophobas Morio) หรือที่เรียกกันว่า “ซูเปอร์เวิร์ม” หรือ “หนอนยักษ์” (Superworm) สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ด้วยการกินพลาสติกโฟม
“คริสเตียน รินกี้” ผู้นำการวิจัยทดลองแบ่งซูเปอร์เวิร์มออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เลี้ยงด้วยรำข้าว กลุ่มที่เลี้ยงด้วยพลาสติกโฟม และกลุ่มที่อดอาหารไปเลย ผลปรากฏว่า กลุ่มที่เลี้ยงด้วยโฟมสามารถเติบโตได้ดีกว่ากลุ่มที่อดอาหาร และมีโอกาสกลายเป็นดักแด้มากกว่าถึง 60% (แต่เป็นรองกลุ่มที่เลี้ยงด้วยรำข้าว) นั่นหมายความว่า ซูเปอร์เวิร์มสามารถกินพลาสติกโฟมและเปลี่ยนมันเป็นพลังงานได้จริง ๆ ซึ่งแม้อาหารพลาสติกจะไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้กินอะไรเลย
แต่สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้จริง ๆ คือ “เอนไซม์ในลำไส้” ของซูเปอร์เวิร์มว่าพวกมันสามารถย่อยสลายสารพลาสติกที่อึด-ถึก-ทนและย่อยยากนี้ได้อย่างไร ? แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำโรงงานหนอนย่อยพลาสติก แต่ต้องการศึกษาเพื่อหาทางรีไซเคิลพลาสติกต่างหาก โดยทีมวิจัยได้ใช้เทคนิดที่เรียกว่า Metagenomics ในการวิเคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้ และค้นหาว่าเอนไซม์ตัวไหนที่ทำหน้าที่ดังกล่าว
ด้วยเทคนิคดังกล่าว นักวิจัยสามารถอนุมานได้ว่าเอนไซม์ตัวใดมีหน้าที่ทำลายพลาสติกได้ (ไม่ได้เปิดเผยชื่อเอนไซม์) แต่สิ่งที่นักวิจัยต้องศึกษาต่อคือ พวกเขาจะสามารถใช้เอนไซม์เหล่านี้ในการเปลี่ยน “โพลีสไตรีน” (Polystyrene) ให้เป็น “สไตรีน” (Styrene – สารที่ใช้ทำพลาสติกโฟม) ได้อย่างไร ซึ่งหากทำได้ นี่จะเป็นการปฏิวัติวงการรีไซเคิลพลาสติกเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านี่จะเป็นแนวคิดและการค้นพบที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ว่าการจะรีไซเคิลโฟมอาจมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมา เพราะเราเบนซีนในการผลิตโฟม ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งการผลิตโฟมปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย “นี่เป็นเหตุผลที่เราไม่รีไซเคิลโฟม” ดร.มูซีนา โคนาโรวา วิศวกรเคมีจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์กล่า พร้อมทั้งเสนอว่า “ให้เลิกใช้พลาสติกจากโพลีสไตรีนแทนจะง่ายกว่า”
อ้างอิง ( Ref.) – BBC, Sciencealert, ABC news