ความรู้ด้านวิศวกรรมชีวภาพ (bioengineering) ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ที่มีแต่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เท่านั้นที่รู้จัก แต่ล่าสุดนักวิจัยจากฝรั่งเศสพบหลักฐานว่ามนุษย์สามารถผสมสัตว์ข้ามสายพันธุ์ได้ตั้งแต่ 4,500 ปีก่อนแล้ว จากการผสม “ลาบ้าน-กับลาป่า” ได้ออกมาเป็นสัตว์สปีชีส์ใหม่ชื่อว่า “คุงกา” (Kunga)
ซากกระดูกของคุงกาจำนวน 25 ตัว ถูกพบครั้งแรกในปี 2006 ณ สุสานของชนชั้นสูงของชาวเมโสโปเตเมีย “เทล อุมม์ เอล-มาร์รา” (Tell Umm el-Marra) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศซีเรีย ซึ่งในตอนแรกถูกเข้าใจว่าเป็นกระดูกของม้า แต่ทว่าในประวัติศาสตร์ชาวเมโสโปเตเมียเพิ่งรู้จักม้าในอีก 500 ปีถัดมา
ปริศนานี้เป็นที่ถกเถียงกันมานานกว่า 10 ปี จนกระทั่งในปี 2022 นักวิจัยจาก Institut Jacques Monod ประเทศฝรั่งเศส ได้ศึกษาเปรียบเทียบจีโนมของซากสัตว์ชนิดนี้ กับพันธุกรรมจากซากลาป่าซีเรียอายุ 11,000 ปี และลาบ้าน ปรากฏว่ามันมี DNA ของลาทั้ง 2 ชนิดอยู่ในตัวเดียวกัน นั่นหมายความว่าซากสัตว์ที่เถียงกันมานานนั้น แท้จริงเป็นสัตว์ลูกผสม (คุงกา) นั่นเอง
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะมันไม่ได้มีตัวเดียวและจากซากโครงกระดูกที่พบ มีร่องรอยบนฟันที่บ่งบอกว่าคาบบังเหียน (รถลาก) และการกินอาหารที่ถูกมนุษย์เลี้ยงดูอย่างดี แถมคุงกาทุกตัวจะเป็นหมันเพราะผสมพันธุ์ข้ามสปีชีส์ไม่สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ ดังนั้นหมายความว่าชาวเมโสโปเตเมียหรือมนุษย์ยุคสำริดตั้งใจทำการผสมสัตว์ข้ามสปีชีส์อย่างแน่นอน
คำถาม : ทำไมถึงต้องพยายามผสมพันธุ์คุงกาด้วย ? ดร. อีวา-มาเรีย เจียจิเยร์ หนึ่งในสมาชิกของทีมวิจัยในครั้งนี้ให้คำตอบไว้ว่า “ในยุคนั้นชาวเมโสโปเตเมียต้องการทำสงครามเพื่อขยายอำนาจ แต่ในตอนนั้นพวกเขาไม่รู้จักม้า มีเพียงแต่ลาและวัวเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นสัตว์สงครามได้ เป็นไปได้ว่าพวกเขาบังเอิญสังเกตเห็นลูกผสมระหว่างสัตว์ 2 สายพันธุ์นี้ และพบว่าคุงกามีร่างกายใหญ่กว่าลา วิ่งเร็วกว่า และเชื่องกว่า แถมยังขายได้ราคาสูงกว่าลาถึง 6 เท่า นี่จึงกลายเป็นที่มาของการผสมสัตว์ข้ามสายพันธุ์ก็เป็นได้”
อย่างไรก็ตาม แม้คุงกาจะเป็นที่นิยมและมีราคาสูงแต่ซึ่งกว่าจะได้คุงกามาสัก 1 ตัว พวกเขาต้องไปจับลาป่ามาเพื่อผสมพันธุ์กับลาบ้านซึ่งยุ่งยากมาก จนสุดท้ายเมื่อชาวเมโสโปเตเมียได้รู้จักกับม้าเมื่อ 4,000 ปีก่อน ที่แม้จะแข็งแรงน้อยกว่าและวิ่งช้ากว่าคุงกา แต่ทว่ามันผสมพันธุ์ได้ง่ายกว่ามาก แถมใช้เป็นสัตว์สงครามได้ ทำให้ไม่มีใครผสมพันธุ์คุงกาขึ้นมาอีกจนมันสูญพันธุ์ไปในที่สุด (งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Science Avances เมื่อ 14 มกราคม 2022)
Fact – ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียมีธรรมเนียมที่น่าสนใจคือ “การประมูลเจ้าสาว” โดยในแต่ละปี จะมีการรวบรวมหญิงสาวที่มีคุณสมบัติพร้อมแต่งงาน และให้ฝ่ายชายมาเลือกและเสนอเงินแข่งกัน หลังประมูลเสร็จก็จะเข้าสู่พิธีต่าง ๆ แต่ที่สำคัญคือการแต่งงานจะสำเร็จลุล่วงได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายหญิงตั้งท้อง (หมายความว่าแต่งงานปุ๊บ ในคืนนั้นต้องปั๊มกันให้ท้องให้ได้) และหากพบว่าฝ่ายหญิงเสียพรหมจรรย์ไปก่อนคืนงานแต่งงานฝ่ายชายสามารถส่งคืนเจ้าสาว และขอเงินประมูลทั้งหมดคืนได้