นักวิทยาศาสตร์พบฟอสซิล อายุ 86 ล้านปี ของสัตว์เลื้อยคลานบินได้ หรือ เทอโรซอร์ (Pterosaur) สายพันธุ์ใหม่ มีขนาดใหญ่ยาว 9 เมตร ในเทือกเขาแอนดีส จังหวัดเมนโดซาทางตะวันตกของอาร์เจนตินา มันเป็นสัตว์นักล่าที่ได้รับการขนานนามว่า “มังกรมรณะ” (Dragon of Death)
ย้อนกลับไปในยุคไทรแอสซิคและยุคครีเทเชียส เทอโรซอร์ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ 215 ล้านปีก่อน เป็นสัตว์ที่ปกครองท้องฟ้าทั่วโลกมายาวนานนับร้อยล้านปี เนื่องจากพวกมันไม่มีคู่แข่งหรือศัตรูเลย จึงสามารถวิวัฒนาการแตกสายพันธุ์ออกมามากมายหลายขนาด โดยสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดยาวถึง 12 เมตร ซึ่งเมื่อสยายปีกจะมีความกว้างกว่าเครื่องบินรบ f-16 เสียอีก
นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ Cuyo ประเทศอาร์เจนติน่า พบกระดูกฟอสซิลประมาณ 40 ชิ้น เมื่อนำมาประกอบกันแล้วจึงทราบว่ามันคือฟอสซิลของเทอโรซอร์ ซึ่งเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดแรก ๆ บนโลกที่สามารถบินได้และล่าเหยื่อจากบนฟ้า ตามรายงานของ National Geographic (การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Cretaceous Research)
จากการวิเคราะห์เป็นไปได้ว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปพร้อม ๆ กับไดโนเสาร์ในตอนที่เกิดเหตุดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ณ คาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก ที่กำจัดสิ่งมีชีวิต 3 ใน 4 ของโลกเมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อน
เลโอนาร์โด ออร์ติซ หัวหน้าโครงการการค้นพบดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่นว่า “ฟอสซิลที่พบมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากเทอโรซอร์สายพันธุ์อื่น ๆ แบบที่ไม่เคยพบมาก่อน จึงจำเป็นต้องตั้งชื่อสกุลและสปีชีส์ใหม่ คือ Thanatosdrakon amaru มากจากรากศัพท์ภาษากรีกที่แปลว่า มังกรมรณะ”
โดยการค้นพบนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะทางกายวิภาคของเทอโรซอร์กลุ่มใหม่ ปัจจุบันฟอสซิลเทอโรซอร์ที่พบถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ Cuyo เพื่อศึกษาเพิ่มเติมและคาดว่าจะทำการจัดแสดงในอนาคต
อ้างอิง (Ref.) – interestingengineering, reuters, mashable