นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วอย่าง “ไซยาโนแบคทีเรีย” (cyanobacteria) หรือที่เรียกกันว่า “สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน” ซึ่งทดลองแล้วว่ามันสามารถให้พลังงานแก่คอมพิวเตอร์จิ๋วใช้งานได้นานถึง 6 เดือน เชื่อว่านี่จะเป็นแหล่งพลังงานที่มีชีวิตรูปแบบใหม่ในอนาคต
การค้นพบนี้เกิดขึ้นระหว่างการล็อคดาวน์โควิด-19 เมื่อปี 2021 โดย “คริสโตเฟอร์ ฮาว” นักวิจัยผู้คิดค้นแหล่งพลังงานดังกล่าวได้สร้างภาชนะกล่องโปร่งแสงทำจากพลาสติกและอะลูมิเนียม ขนาดเท่าถ่านแบตเตอรี่ขนาด AA และบรรจุสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิด Synechocystis sp. PCC 6803 เอาไว้ภายใน และตั้งแบตเตอรี่สาหร่ายนี้ไว้ที่ขอบหน้าต่างเพื่อให้เกิดการสังเคราะห์แสง (photosynthesis)
ว่าแต่..แค่การสังเคราะห์แสงมันให้พลังงานไฟฟ้าได้ยังไง ? ตอบ : มี 2 ทฤษฎีที่น่าจะมีความเป็นไปได้คือ 1. สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินผลิตอิเล็กตรอนขึ้นมาได้เองจากการสังเคราะห์แสง หรือ 2.เป็นเพราะภาชนะอะลูกมิเนียมที่ถูกบรรจุไว้มีขั้วบวก-ลบ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีและผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมา
การค้นพบนี้นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในวงการวิทยาศาสตร์ จนได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Energy & Environmental Science ซึ่งพวกเขาทดลองโดยการให้มันขับเคลื่อนโปรเซสเซอร์ Arm Cortex M0+ ซึ่งเป็นไมโครโปรเซสเซอร์ใช้คำนวณผลรวมทางคณิตศาสตร์ โดยวนเป็นรอบละ 45 นาที สแตนด์บายรอ 15 นาที และวนมาคำนวณใหม่ ในตอนแรกพวกเขาคิดว่าพลังงานที่ได้คงหายไปใน 2-3 สัปดาห์ แต่ทว่ามันยังคงจ่ายพลังงานอย่างต่อเนื่อง แม้การทดลองจะจบไปแล้ว แต่มันก็ยังคงผลิตพลังงานต่อไป (หลังให้พลังงานต่อเนื่องนาน 6 เดือน)
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการทดลองเท่านั้น มันยังไม่มีพลังงานเพียงพอในการจ่ายไฟให้กับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ (ถ้าจะให้พอต้องใช้แบตเตอรี่สาหร่ายอย่างน้อย 300 ล้านก้อน) และมันยังไม่สามารถใช้สำรองไฟฟ้าในบ้านคุณได้ในตอนนี้ แต่มันอาจมีประโยชน์สำหรับพื้นที่ชนบทในพื้นที่ห่างไกลที่ใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยต่อวัน
นักวิจัยเชื่อว่าแบตเตอรี่สาหร่ายจะเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียมที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ “แมทธิว สปาร์ค” หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้แบตเตอรี่ลิเธียมหลายพันล้านเครื่อง และจะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านเครื่องภายใน 13 ปีข้างหน้า ทั้งหมดนี้ต้องใช้ลิเธียม 109,000 ตัน ซึ่งมากกว่าที่โลกผลิตได้ตอนนี้ถึง 3 เท่า”
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลอีกมากที่ต้องศึกษาวิจัยต่อไปเกี่ยวกับแบตเตอรี่สาหร่ายนี้ ว่ามันมีอายุการใช้งานยาวนานแค่ไหน จะควบคุมการผลิตพลังงานที่คงที่ได้ยังไง และจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานให้มากขึ้นด้วยขนาดที่เหมาะสมอย่างไร ? นักวิจัยเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาทั้งหมดนี้ได้ภายใน 5 ปี สุดท้าย ดูเหมือนว่าเราจะมีแหล่งพลังงานที่มีชีวิตจากสิ่งมีชีวิตในไม่ช้าครับ