หลายคนอาจไม่รู้ว่า “Sea cucumber” หรือ “ปลิงทะเล” เป็นสัตว์ที่มีมูลค่ามหาศาล ที่ขายกันในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3,500 ดอลลาร์ หรือราว ๆ 130,000 บาทกันเลยทีเดียว ว่าแต่ทำไมมูลค่าของมันถึงแพงขนาดนั้น แล้วใครกันที่ยอมจ่ายเงินมหาศาลเพื่อสัตว์ทะเลหน้าแปลกชนิดนี้ เดี๋ยว Flagfrog เล่าให้ฟังครับ
ก่อนอื่นมารู้จักกับปลิงทะเลกันก่อน โดยพวกมันเป็นสัตว์ไม่มีกระดุกสันหลัง มีประมาณ 1,250 สายพันธุ์ทั่วโลก มีขนาดตั้งแต่ 2 เซนติเมตร ไปจนถึงยาวสุด 1.8 เมตรเลยทีเดียว กระจายตัวอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก ตั้งแต่น้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง ไปจนถึงร่องลึกสุดในมหาสมุทร โดยสายพันธุ์ที่แพง ๆ คือสายพันธุ์ที่อยู่ในน้ำลึก (ยิ่งหายากก็ยิ่งแพงนั่นเอง)
ปลิงทะเลจัดว่าเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะการขับถ่ายของมันจะขับไนโตรเจน แอมโมเนีย และแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างแนวปะการัง อีกทั้งของเสียที่พวกมันปล่อยออกมายังมีค่า pH สูง ซึ่งช่วยลดความเป็นกรดของน้ำทะเลที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์อีกด้วย
เอาล่ะเกริ่นซะเยอะเลย มาเข้าเรื่องกันดีกว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้สัตว์หน้าตาประหลาดนี้มีราคาสูงลิ่วเป็นเพราะ ความนิยมในฝั่งเอเชียตะวันออกที่เชื่อว่ามีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายและคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งในอดีตมักถูกเสิร์ฟให้กับชนชั้นสูงและคนร่ำรวยมาก ๆ เท่านั้น ดังนั้นปลิงทะเลจึงถูกมองว่าเป็นอาหารล้ำค่านั่นเอง
โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1980 ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมาก ทำให้ชนชั้นกลางที่เริ่มร่ำรวยก็หันมากินปลิงทะเลกันมากขึ้น ทำให้ความต้องการปลิงทะเลพุ่งกระฉูด ราคาก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นสายพันธุ์หายากหรือหน้าตาแปลกเท่าไหร่ก็ยิ่งราคาสูงขึ้นเท่านั้น โดยปลิงทะเลที่มีราคาสูงที่สุดคือ “ปลิงทะเลญี่ปุ่น”
ในส่วนของสรรพคุณทางอาหาร ที่ผิวหนังของปลิงทะเลมีสารที่เรียกว่า fucosylated glycosaminoglycan ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคข้ออักเสบได้ ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแต่ในเอเชียเท่านั้น แต่ฝั่งยุโรปเองก็หันมาใช้มันเพื่อรักษามะเร็งบางชนิดและช่วยขับลิ่มเลือดได้ด้วย ทำให้ทุกวันนี้ปลิงทะเลกลายเป็นที่ต้องการทั่วโลก
ว่าแต่…ถ้าราคาดีขนาดนั้น ทำไมเราไม่เพาะพันธุ์ปลิงทะเลขายซะเลยล่ะ ? ตอบ : การเพาะพันธุ์ปลิงทะเลค่อนข้างยาก เพราะตัวอ่อนปลิงทะเลส่วนมากจะตายก่อนโต และตัวที่รอดก็ต้องใช้เวลานานถึง 2-6 ปี ถึงจะสามารถขายได้ แถมบางสายพันธุ์ต้องอยู่ในน้ำลึกอีกด้วย
ปัจจุบัน มีปลิงทะเลกว่า 70 สายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจนจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ และอีก 7 สายพันธุ์ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติจากการประมงและการเป็นที่ต้องการทั่วโลก
อ้างอิง (Ref.) – businessinsider, theguardian, science thinker