ระหว่างการสำรวจธารน้ำแข็งทางตอนใต้ของปาทาโกเนีย นักบรรพชีวินค้นพบฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์หายากคือ “อิคธิโอซอร์” (Ichthyosaur) สัตว์เลื้อยคลานในทะเลคล้ายโลมาที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 251-95 ล้านปีก่อน ซึ่งสิ่งที่ทำให้ฟอสซิลนี้น่าสนใจและหายากกว่าปกติคือ “มันกำลังตั้งท้อง”
ฟอสซิลอิคธิโอซอร์นี้ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2009 โดยนักบรรพชีวินวิทยา “Judith Pardo-Pérez” เขาตั้งชื่อให้มันว่า “ฟิโอน่า” (Fiona) มาจากตัวละครยักษ์ในเภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง “Shrek” (2001) เพราะฟอสซิลมีสีเขียวจากการถูกเคลือบด้วยสารออกไซด์ มีขนาดยาว 4 เมตร มีอายุประมาณ 139-129 ล้านปีก่อน (ช่วงต้นยุคครีเทเชียส)
ต่อมาเข้าร่วมงานวิจัยกับ “แอริน แมกซ์เวล” ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งรัฐในเมืองสตุตการ์ท ประเทศเยอรมนี ในการขุดมันขึ้นมา โดยต้องใช้เวลากว่า 13 ปี ในการขุดเนื่องจากที่ตั้งของฟอสซิลฟิโอน่าตั้งอยู่บนธารน้ำแข็ง Tyndall ซึ่งห่างไกลมาก ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ในการขนย้ายเท่านั้น
Pardo-Pérez กล่าวว่า “ฟอสซิลอิคธิโอซอร์ตั้งท้อง สิ่งนี้ช่วยในการศึกษาอย่างมาก เพราะมันแสดงให้เห็นวงจรชีวิต สามารถบอกได้ว่าอิคธิโอซอร์ตั้งท้องครั้งละกี่ตัว ลูกที่กำลังจะคลอดออกมามีขนาดเท่าใด” อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ฟอสซิลอิคธิโอซอร์ตั้งท้องตัวแรก เพราะก่อนหน้านี้เคยพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1749 แต่ถึงอย่างนั้นการค้นพบนี้ก็ช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากฟอสซิลฟิโอน่า ยังมีฟอสซิลของอิคธิโอซอร์อีกนับร้อยตัวในแหล่งสะสมฟอสซิล ณ ธารน้ำแข็ง Tyndall แต่นักวิจัยสามารถขุดออกมาได้เพียง 23 ตัวเท่านั้น เนื่องจากความยากลำบากในการเข้าถึง รวมถึงพื้นที่บางจุดเสี่ยงอันตรายเกินไปเช่นอยู่ขอยหน้าผา ที่สำคัญขาดเงินทุนในการสนับสนุนไม่เพียงพอ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่ายังมีฟอสซิลอีกจำนวนมากที่ยังไม่ถูกค้นพบ นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยเลยจริง ๆ
สุดท้าย แมกซ์เวลหวังว่าการค้นพบในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานและนักวิทยาศาสตร์รอบโลกให้ความสนใจและสนับสนุนในการค้นหาทำความเข้าใจเกี่ยวกับฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนแต่ในอเมริกาเหนือ รัสเซีย จีน และยุโรป แต่กลับมองข้ามอเมริกาใต้ ที่อาจเป็นแหล่งฟอสซิลที่กำลังรอคอยการค้นพบอยู่ก็เป็นได้
อ้างอิง (Ref.) – Livescience, Reuters, Allthatsinteresting