เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา องค์กรด้านการอนุรักษ์นานาชาติ (WWF) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการจากไปของโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายในแม่น้ำโขงเขต สปป.ลาว ซึ่งทาง WWF ระบุว่า “นี่คือการสูญพันธุ์ระดับนานาชาติ”
โดยก่อนหน้านี้จากผลสำรวจประชากรล่าสุด เมื่อปี 2016 ระบุว่า มีโลมาสายพันธุ์ดังกล่าวอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงเขต สปป.ลาว 3 ตัว (แต่ 2 ตัวก่อนหน้านี้จากไปเมื่อปี 2021) โดยตัวล่าสุดเป็นเพศผู้ อายุ 25 ปี ขนาดลำตัวยาว 2.6 เมตร น้ำหนัก 110 กิโลกรัม จากการตรวจสอบเชื่อว่ามันถูกอวนลากติดขึ้นบกตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว และเสียชีวิตใน 4 วันต่อมา จึงทำให้สปป.ลาว ไม่มีโลมาน้ำจืดสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่แล้วครับ …
ข้อมูลอย่างละเอียด-เกี่ยวกับโลมาชนิดนี้ : โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin) (ชื่อวิทยาศาสตร์ Orcaella brevirostris) พวกมันถูกพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า (จึงเป็นที่มาของชื่อ) สามารถพบพวกมันได้เพียงแหล่งน้ำ 5 แห่งบนโลก นั่นคือ แม่น้ำโขงประเทศลาวและกัมพูชา แม่น้ำขาวประเทศอินโดนีเซีย ทะเลสาบซิลิกาประเทศอินเดีย และประเทศไทยในทะเลสาบสงขลา

โลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวน อยู่ในกลุ่ม “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์สูงสุด” ตัวเลขล่าสุดขณะนี้พบในแม่น้ำโขงเขตประเทศกัมพูชาเหลืออยู่ 89 ตัวและสำหรับประเทศไทยเหลือเพียง 14 ตัวเท่านั้น โดยโลมาชนิดนี้ ยังมีอีกหนึ่งชื่อคือ “โลมาหัวบาตร” เนื่องจากมีหัวกลมเกลี้ยงคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม ความยาวลำตัวราว 1.8-3 เมตร น้ำหนัก 90-130 กิโลกรัม อาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดรวมถึงน้ำกร่อย อายุขัย 30 ปี
สามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน 1-3 นาทีจากนั้นค่อยขึ้นมาหายใจ เป็นสายพันธุ์ที่มีสายตาดีเทียบเท่ามนุษย์ ทำให้สามารถล่าเหยื่อได้โดยการพ่นน้ำหรือปล่อยฟองอากาศเพื่อให้เหยื่อช็อกตกใจ จากนั้นจึงรีบพุ่งเข้าไปงับกิน (อาหารจานโปรดคือ ปลาตามแหล่งอาศัย กุ้ง และหมึก)

สาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ : นอกจากการถูกล่าเพื่อนำเนื้อไปบริโภค ปัญหามลพิษทางน้ำ และการล่าสัตว์แบบผิดวิธี แต่ก็ยังมีปัจจัยทางธรรมชาติของพวกมันเกี่ยวข้องด้วย
นั่นก็เพราะ ตัวเมียต้องมีอายุถึง 7 ปีกว่าจะพร้อมผสมพันธุ์ แถมยังต้องใช้เวลาตั้งท้องนานถึง 14 เดือนต่อครั้ง และคลอดลูกออกมาครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น ซึ่งหากจำนวนของพวกมันลดลงต่อเนื่องแบบนี้ต่อไป มันคงสูญพันธุ์ไปจากโลกภายในไม่เกิน 10 ปีแน่นอน …

Fact – สายพันธุ์โลมาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือ “ออร์กา” (Orga) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “วาฬเพชฌฆาต” โดยนอกจากหลายคนจะเข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นวาฬแล้ว ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ? จากการเฝ้าติดตามฉลามขาว 165 ตัว (ระหว่างปี 2006-2013) ทำให้เราทราบว่า “พวกมันกลัวสัตว์ที่มีชื่อสุดน่ารักชนิดนี้เข้าไส้”
นั่นเพราะ – ทันทีที่พวกมันเห็นฝูงออร์กา มันจะทิ้งแหล่งอาหารตรงนั้นไปทันที และจะไม่กลับมาหากินแถวนั้นอีกอย่างน้อย 1 ปี แม้ในบางครั้งเหล่าออร์กาจะแค่ว่ายน้ำผ่านเฉย ๆ ซึ่งเรื่องนี้ยังหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ แต่คาดว่าคงเป็นสัญชาติญาณของฉลามที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากวาฬเพชฌฆาตมักจะจู่โจมสัตว์อื่นทันที ทั้งเพื่อล่าเป็นอาหารและเพื่อความสนุกเท่านั้น ดังนั้น เจ้าออร์กา จึงไม่ได้น่ารักเหมือนชื่อหรือหน้าตาของมันเลยแม้แต่น้อยครับ ฮ่า ๆ ๆ