“อะโซ-โลตล์” หรือจะเรียกว่า “แอกโซ-ลอเติล” ก็ได้ (Axolotl) ชื่อวิทยาศาสตร์ “Ambystoma mexicanum” คือสิ่งมีชีวิตที่สามารถงอกอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ที่เสียหายให้กลับมาใช้งานได้ แม้จะขาดออกหรือได้รับบาดเจ็บเพียงใดก็ตาม (แม้แต่ – หัวใจที่ถูกทำลายก็ยังสามารถรักษาได้เลยคิดดู – ฮีลลิ่งสกิลโคตรโหด)
โดยพวกมันเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ-จำพวกเดียวกับซาลาแมนเดอร์ มีถิ่นกำเนิดและพบได้แห่งเดียวบนโลกคือ คลองโซชิมิลโก (Xochimilco) ประเทศเม็กซิโก (โดยภาษาสเปนออกเสียงว่า “อะโฮโลตล์” นะครับ) ถูกค้นพบครั้งแรกโดยชาวแอซเท็กเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว ส่วนชื่อของมันก็ถูกตั้งตามเทพองค์หนึ่งตามความเชื่อของพวกเขานั่นเอง)
และแม้สกิลการสร้างอวัยวะจะเจ๋งขนาดไหน แต่กระบวนการฟื้นฟูจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพวกมันยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น (ถ้าตายไปแล้วคือจบ)

โดยกระบวนการมีดังนี้ เมื่ออวัยวะส่วนใดเสียหาย-เลือดจะหยุดไหลแทบทันที-จากนั้นประมาณ 2 ถึง 3 วัน เซลล์ที่ปิดปากแผลจะทำหน้าที่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดเรียกว่า “บลาสเทมา” (Blastema)-ซึ่งจะค่อย ๆ แบ่งตัวเพื่อสร้างเป็นกล้ามเนื้อ กระดูกอ่อน เส้นประสาท เส้นเลือด-จนพัฒนากลายเป็นอวัยวะส่วนที่ขาดให้กลับมาใช้งานได้ปกติ (เวลาในการฟื้นฟูราว 30-60 วัน)
ซึ่งแน่นอนว่าความสามารถนี้ครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นปอด สมอง กระเพาะ ลำไส้ แต่ตามข้อมูลระบุว่า อวัยวะจะต้องไม่เสียหายเกิน 1 ใน 3 เพราะหากเกินกว่านั้นก็จะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาได้ 100% (เป็นอีก 1 เงื่อนไขที่ท้าทายพอสมควร)
a – นักวิจัยทดลองสร้าง “แขนพิเศษ” งอกเพิ่มขึ้นมาสำเร็จ , b – จากการศึกษาพบว่า เซลล์สามารถจดจำขนาดและตำหนิของอวัยวะเดิมได้ , c – ภาพซูมขยายพิเศษที่ทำให้เห็นถึงเม็ดเลือดขาวที่กำลังซ่อมแซมส่วนที่เสียหายอย่างขมักเขม้น
ดร.เจมส์ กอดวิน จากศูนย์วิจัยชีววิทยา MDI ระบุว่า “ความสามารถในการฟื้นฟูของสัตว์ชนิดนี้ซับซ้อนเป็นอย่างมาก เราพยายามหานิวเคลียสต้นกำเนิดเพื่อนำมาปรับใช้กับมนุษย์ เพราะสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ทนทานต่อมะเร็งมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปถึง 1,000 เท่า โดยจากผลวิจัยล่าสุดเราทราบแต่เพียงว่า พวกมันมีระบบภูมิคุ้มกันแบบเซลล์เม็ดเลือดขาวเหมือนเรา นั่นคือแบบ แมคโครฟาจ-Macrophages แต่ต่างกันตรงที่เม็ดเลือดขาวของมันจะซ่อมแซมเซลล์ประสาทรวมถึงอวัยวะส่วนที่ขาดร่วมด้วย ผิดกับมนุษย์ที่จะคอยดักจับสิ่งแปลกปลอมในร่างกายเท่านั้น”
อย่างไรก็ตามนักวิจัยจะต้องศึกษาลึกลงไปถึงระดับโมเลกุลเพื่อพัฒนาไปสู่กระบวนการสร้างอวัยวะในมนุษย์ เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการรักษาอวัยวะที่ขาดด้วยการฉีดสารที่สร้างขึ้นจากตัวแอกโซ-ลอเติลก็เป็นได้ และสุดท้ายด้วยความสามารถที่โดดเด่นนี้ จึงทำให้พวกมันถูกจับมาทดลองจำนวนมาก ปัจจุบันจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ครับ



อ้างอิง (Ref.) – Discover magazine , Quanta Magazine , nature