“แฟรงเกนสไตน์” (Frankenstein) นวนิยายแนวโกธิคสยองขวัญสุดอมตะ ที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคก็ยังมีกลิ่นอายความน่าหลงใหลอยู่ตลอด โดยเมื่อปี 2021 นวนิยายดังกล่าวก็สร้างเสียงฮือฮาด้วยราคาประมูลหนังสือชุดแรกในราคาสูงถึง 40 ล้านบาท !!

นวนิยายเรื่อง “แฟรงเกนสไตน์” หรืออีกชื่อหนึ่ง “Modern Prometheus” เป็นฝีมือการประพันธ์ของ “แมรี เชลลีย์” (Mary Shelley) มีการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1818 มีทั้งเรื่องราวของความสยองขวัญจากศพที่ถูกฟื้นคืนชีพ และเรื่องราวความรักปนอยู่รวมกัน ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ถูกนำไปดัดแปลงในการแสดงต่าง ๆ ตั้งแต่ละคร, ละครเวที, ภาพยนตร์ แม้กระทั่งการ์ตูนก็มีเหมือนกันครับ
แต่ความน่าสนใจของเรื่องราวนี้ คือการเปิดประมูลหนังสือนวนิยายเรื่องแฟรงเกนสไตน์นี่แหละ หากแต่มันจะไม่น่าสนใจอะไรเลยถ้ามันไม่ใช่หนังสือที่อยู่ในการพิมพ์ครั้งที่ 1 นั่นแปลว่าหนังสือชุดนี้มีอายุกว่า 200 ปีมาแล้ว

จุดสังเกตที่โดดเด่นของหนังสือในยุคนี้คือ “ปกหนังสือสีฟ้า” ที่ทำจากกระดาษแข็งและไม่มีลวดลายอะไรมากนัก โรงพิมพ์ในช่วงปี 1800 จะใช้กระดาษแข็งสีฟ้าหรือเทาแทนปกหนังสือเพื่อให้กระบวนการผลิตรวดเร็ว นอกจากนี้ เมื่อลูกค้าเข้ามาซื้อหนังสือแล้ว พวกเขาสามารถส่งหนังสือไปให้ช่างทำปกช่วยถอดปกกระดาษแข็งอันจืดจางนี้ออก เพื่อทำปกใหม่ที่สวยงามกว่าลงไปแทน
ดังนั้น ปกกระดาษแข็งนี้จึงถอดเปลี่ยนได้ง่าย แต่ก็มีความแข็งแรงต่ำกว่าการทำปกแบบจริงจังเช่นกัน ในช่วงหลังที่ระบบโรงพิมพ์พัฒนามากขึ้น ความนิยมใช้ปกกระดาษแข็งจึงลดน้อยลงไปมาก (เพราะโรงพิมพ์สามารถทำปกสวย ๆ และแข็งแรงกว่าได้เร็วทันใจนั่นเอง)
นอกจากเรื่องปกที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว หนังสือแฟรงเกนสไตน์ถูกปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนของบทที่ 1 ในการตีพิมพ์ครั้งที่ 3 และกลายมาเป็นเนื้อหาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าเนื้อหาของหนังสือในการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จะแตกต่างไปจากที่เราเคยได้อ่านกัน ทำให้มันมีความเป็นเอกลักษณ์ยิ่งขึ้นไปอีก เรียกได้ว่ามันคือแรร์ไอเทมขั้นสุดจริง ๆ
นั่นจึงทำให้หนังสือ “แฟรงเกนสไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1” กลายเป็นของสะสมอันมีคุณค่า อีกทั้งมันยังอยู่ในสภาพดีงามไร้ที่ติแม้กาลเวลาจะผ่านมาถึงสองศตวรรษ ส่งผลให้มูลค่าของการประมูลที่ตั้งไว้ตอนแรกว่าจะจบที่ราคา 3 แสนดอลลาร์ กลับมาจบที่ราคา 1.17 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 39.49 ล้านบาทครับ
ด้วยราคาที่ประมูลได้สูงขนาดนี้ นวนิยายแฟรงเกนสไตน์ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก กลายเป็นนวนิยายของนักประพันธ์หญิงที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ทำลายสถิติแซงหน้าเรื่อง Emma จากบทประพันธ์ของ เจน ออสติน ที่ปิดการประมูลไปในราคา 205,000 ดอลลาร์ครับ
Fact – แรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องแฟรงเกนสไตน์ของแมรี เกิดขึ้นจากการเล่าเรื่องสยองขวัญแข่งกับเพื่อนและสามีของเธอ ขณะที่ทั้งสามอยู่ในคฤหาสน์ที่สวิตเซอร์แลนด์ และหาเกมฆ่าเวลาเนื่องจากเกิดฝนตกหนักจึงออกไปไหนไม่ได้ เรื่องของแมรีแต่งได้น่ากลัวที่สุด จึงทำให้เธอจำพล็อตนี้มาเขียนเรื่องแฟรงเกนสไตน์