เมื่อปี 2009 เป็นครั้งแรกที่นักวิจัยค้นพบฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานมีปีกดึกดำบรรพ์ (หรือที่เรียกกันว่า “เรซัวร์”) ในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี เป็นหนึ่งในสองสายพันธุ์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์บินได้ ที่เคยมีชีวิตอยู่จริงเมื่อ 160 ล้านปีก่อน มีฉายาว่า “มังกรบินแห่งทะเลทราย”
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า “เรซัวร์” คือชื่อเรียกของสัตว์ดึกดำบรรพ์บินได้ โดยจะมีหลัก ๆ แค่ 2 กลุ่ม คือ 1. Rhamphorhynchinae และ 2. Pterodactyloids ซึ่งสามารถพบเฉพาะในซีกโลกเหนือหรือที่เรียกว่ามหาทวีปลอเรเซีย ปล. อดีตมหาทวีปแพนเจียแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ลอเรเซีย (เหนือ) 2.กอนด์วานา (ใต้)
โดยการค้นพบนี้เป็นครั้งแรกที่พบเรซัวร์ในซีกโลกใต้ คาดว่าเป็นสมาชิกของ Rhamphorhynchinae เพราะมีขนาดเล็ก โดยปีกกว้าง 2 เมตร มีหางยาวแหลม และจะงอยปากยืนยาว พร้อมฟันแหลมคม และแม้จะพ่นไฟไม่ได้แบบในซีรีส์ หรือในนิยายที่เราคุ้นเคย แต่ลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพียงพอให้เราเรียกมันว่า “มังกร” ได้
“โจนาธาน อัลรากอน” หัวหน้านักวิจัยและทีมสำรวจผู้ค้นพบกล่าวกับ LiveScience ว่า “การค้นพบนี้น่าตื่นเต้นมากในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะพวกเราเข้าใจมาตลอดว่าเรซัวร์จะอาศัยอยู่เฉพาะในแทปซีกโลกเหนือเท่านั้น เป็นการเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของเหล่าเรซัวร์”
นอกจากนี้ ฟอสซิลดังกล่าวถูกซ่อนและเก็บรักษาอยู่ในหินทรายเป็นอย่างดี ไม่บุบสลาย เพราะส่วนใหญ่ฟอสซิลเรซัวร์มักจะถูกพบในสภาพแตกสลาย ป่น เนื่องจากกระดูกของเรซัวร์จะบางเบาและมีฟองอากาศ เพราะให้เหมาะแก่การบินนั่นเอง นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฟอสซิลมังกรบินที่หาได้ยากและสมบูรณ์สุด ๆ
อดีตเชื่อว่ามังกรเหล่านี้มีวิถีชีวิตในการจับสัตว์น้ำกินเป็นอาหารรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เนื่องจากฟอสซิลส่วนใหญ่ที่พบมักอยู่ใกล้กับแนวชายฝั่ง ซึ่งหลังจากการค้นพบของทีมโจนาธาน ก็มีรายงานการพบฟอสซิลเรซัวร์เพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ เช่นในคิวบา เป็นต้น
ปัจจุบัน นักวิจัยยังคงพยายามนำชิ้นส่วนทั้งหมดออกมาจากหินอย่างระมัดระวัง อีกทั้งยังต้องทำการศึกษาต่อไปเพื่อระบุสายพันธุ์ที่แน่ชัด เพราะไม่แน่ว่าฟอสซิลตัวที่พบนี้อาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อนก็เป็นได้
อ้างอิง (Ref.) – livescience, nypost, newsweek