จากความพยายามเกือบ 2 ปีเต็ม บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของจีน ประสบความสำเร็จในการโคลิ่นนิ่ง “ลูกหมาป่าอาร์กติก” (Arctic Wolf) ครั้งแรกและตัวแรกของโลก ถูกตั้งชื่อว่า “มายา”
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2022 “Sinogene Biotechnologies” เปิดเผยวิดีโอของเจ้ามายา ลูกหมาป่าอาร์กติกที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ โดยมายาเกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ในกรุงปักกิ่ง จาก DNA ของ “มายา” (ตัวต้นแบบ) หมาป่าอาร์กติกที่เสียชีวิตในฮาร์บิน โพลาร์แลนด์ อุทยานสัตว์ป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
โดยมายาตัวต้นแบบถูกย้ายมาจากแคนาดาเมื่อปี 2006 และเสียชีวิตเมื่อต้นปี 2021 ด้วยวัยชรา ซึ่ง “Mi Jidong” หัวหน้าทีมของ Sinogene ระบุว่า “พวกเราใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการพยายามโคลนนิ่งเจ้ามายาขึ้นมา พวกเราเลือกใช้วิธีการถ่ายโอนนิวเคลียสของเซลล์โซมาติก (SCNT) เป็นวิธีเดียวกันกับที่ใช้โคลนนิ่ง ‘แกะดอลลี่’ (สัตว์โคลนนิ่งตัวแรกของโลก)”
จากข้อมูลของ Global Times เผยว่า “ทีมวิจัยสกัด DNA จากผิวหนังของมายาตัวต้นแบบ และสร้างเอ็มบริโอหมาป่าอาร์กติกทั้งหมด 137 ตัว ผสมเข้ากับเซลล์ไข่ของสุนัข แต่มีเพียง 85 ตัวที่ได้รับการปลูกถ่ายสำเร็จลงในตัวแทนแม่สุนัขบีเกิล 7 ตัว ซึ่งจากทั้งหมด เหลือแค่ตัวเดียวเท่านั้นที่สามารถพัฒนาได้เต็มที่และถูกคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์” นั่นก็คือเจ้ามายาที่ทุกคนเห็นนี่เอง
ตอนนี้มายาถูกดูแลโดยแม่สุนัขบีเกิลที่ให้กำเนิดมันในห้องทดลอง Sinogene ในเมืองซูโจว ทางตะวันออกของประเทศจีน ซึ่งอนาคตมันจะถูกย้ายไปยังฮาร์บิน โพลาร์แลนด์ เพื่ออาศัยอยู่ร่วมกับหมาป่าอาร์กติกตัวอื่น ๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหมาป่าอาร์กติกจะไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แถมความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ก็ยังต่ำมาก (แต่ก็หายากมากเพราะน้องพรางตัวเก่งสุด ๆ) ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าความสำเร็จนี้จะปูทางไปสู่การโคลนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก ให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ รวมถึงพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในการโคลนสัตว์ให้ก้าวหน้าขึ้น
Fact – ประโยชน์ของการโคลนนิ่ง ไม่ได้มีแต่ช่วยให้สัตว์รอดพ้นจากการสูญพันธุ์เท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ได้ด้วย อีกทั้ง ยังสามารถรวบรวมเฉพาะ DNA ของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์มาเพาะพันธุ์ในห้องทดลองได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องจับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทั้งตัวมาเพาะพันธุ์นั่นเอง
อ้างอิง (Ref.) – livescience, iflscience, globaltimes