เชื่อมั้ยว่าในอดีต เมื่อปี ค.ศ.1888 ทางการออสเตรเลียเคยตั้งเงินรางวัลแก่สัตว์ชนิดนี้ 1 ตัวต่อ 60 บาท (เพราะไปไล่กินแกะของชาวบ้าน) จนกระทั่งปี ค.ศ.1909 จึงได้ยกเลิก โดยพวกมันถูกล่าไปทั้งหมด 2,184 ตัว และอีก 27 ปีต่อมา “เสือแทสเมเนีย” (Tasmanian tiger) ตัวสุดท้ายของโลก ที่อาศัยอยู่ ณ สวนสัตว์ Hobart Zoo ก็ได้จากโลกไป จึงทำให้คนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้เห็นเพียงคลิปและภาพของพวกมันเท่านั้น
ซึ่งก่อนจะไปถึงเนื้อหาที่อธิบายถึงขั้นตอนการคืนชีพให้กับสัตว์ชนิดนี้ เรามาดูข้อเท็จจริงและเหตุผลกันก่อนดีกว่าครับว่า เพราะเหตุใดการโคลนนิ่ง “เสือแทสเมเนีย” ถึงสามารถสร้างเม็ดเงินทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล โดยมี 2 เหตุผลหลัก ดังนี้
1.เนื่องจากมันเป็นสัตว์ที่มักถูกยกเป็นตัวอย่างถึงการสูญพันธุ์จากน้ำมือมนุษย์ ทำให้หลังจากที่มีข่าวการพบเห็นมันอีกครั้งเมื่อปี 2005 ถึงขั้นที่ว่านิตยสารออสเตรเลีย The Bulletin ได้ตั้งเงินรางวัลไว้สูงถึง 35 ล้านบาทให้กับคนที่สามารถพิสูจน์ได้หากพวกมันยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ผู้คนและสื่อน้อยใหญ่ได้พากันเดินทางไปยังพื้นที่ป่าและอุทยานต่าง ๆ เพื่อตามหามันกันเลยทีเดียว และทุกครั้งที่มีข่าวการพบเห็นไม่ว่ากี่ครั้ง ก็จะได้รับความสนใจอยู่เสมอ (แทบจะเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวไปแล้ว) ซึ่งหากการฟื้นชีพสำเร็จ นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะต้องเดินทางมาเพื่อเยี่ยมชมตัวจริงอย่างแน่นอน
2.และแม้ว่าก่อนหน้านี้มนุษย์จะประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งแกะ โคลนนิ่งลิง หรืออย่างปัจจุบันที่การโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงหมาแมวเป็นเรื่องที่ทำกันปกติแล้ว แต่เทคนิคการโคลนนิ่งสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปร่วม 90 ปีก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ด้วยความซับซ้อนและความยากนี้แหละ ที่ทำให้โครงการ “TIGRR lab” ห้องแล็บเจ้าของโปรเจคที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2008 ได้รับงบอัดฉีดจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น แล้วกว่า 155 ล้านบาท ซึ่งหากทำสำเร็จแน่นอนว่าสิทธิบัตรความรู้และวิธีการโคลนนิ่งสุดยากเย็นนี้ย่อมสร้างเม็ดเงินแก่ผู้ลงทุนได้อย่างมหาศาล (ซึ่งข้อที่ 2 อาจไม่ได้มีจุดประสงค์เชิงพาณิชย์ก็ได้ เพราะทางมหาวิทยาลัยระบุว่า “เป็นเงินที่ระดมทุนมาเพื่อสนับสนุนเท่านั้น – เพิ่อนำวิธีที่ได้ไปใช้ป้องกันไม่ให้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวใดต้องสูญพันธุ์อีก”)
โอเค-รู้เหตุผลทางธุรกิจแล้ว ว่าแต่ความเป็นจริงของขั้นตอนการชุบชีวิตล่ะ จะทำได้มั้ย ? ตอนนี้ถึงขั้นไหน ? แล้วติดอยู่ตรงไหนหรอ ? : (อัพเดตข้อมูล เดือนเมษายน 2022)
จะทำได้มั้ย ? : ทางทีมวิจัยบอกว่ามีโอกาสสำเร็จสูงแต่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 10 ปี
ตอนนี้ถึงขั้นไหน ? : จากการใช้ตัวอ่อนของเสือแทสเมเนียทั้งหมด 13 ตัว ซึ่งถูกดองเก็บรักษาไว้ตั้งแต่ปี 1886 พร้อมกับการศึกษาซากอวัยวะกว่า 450 ชิ้น ทำให้ทีมงานสามารถเรียงลำดับจีโนมของสัตว์ชนิดนี้ได้เกือบสมบูรณ์ (จีโนม คือดีเอ็นเอทั้งหมดของสิ่งมีชิวิตนั้น ๆ) ซึ่งขั้นต่อไปคือการหาแม่อุ้มบุญให้มัน
แล้วติดอยู่ตรงไหน ? : อย่างที่ทราบว่าไม่มีเสือแทสเมเนียหลงเหลืออยู่แล้ว (ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีเดียวกับที่โคลนนิ่งสำเร็จในแกะได้) จึงต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีเดียวกันกับที่กำลังพยายาม “โคลนนิ่งแมมมอธ” อยู่ตอนนี้ นั่นคือ “ดัดแปลงดีเอ็นเอบางส่วน-เพื่อให้สามารถฝากครรภ์ไว้กับสัตว์ที่มีสปีชีส์ใกล้เคียงกันมากที่สุดได้” โดยในกรณีของแมมมอธคือการฝากไว้กับช้างเอเชีย ส่วนของเสือแทสเมเนียคือการฝากไว้กับสัตว์ที่มีชื่อว่านัมแบต (Numbat) เพื่อให้มีโอกาสเติบโตและคลอดได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ นัมแบตและเสือแทสเมเนียมีความใกล้เคียงกันอย่างมาก (เคยมีบรรพบุรุษร่วมกัน 35 ล้านปีก่อน) โดยความใกล้เคียงของสัตว์ 2 ชนิดนี้ ยืนยันได้จาก ลายแถบสีดำด้านหลังสุดโด่นเด่น แถมยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนกันด้วย อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ ทางการออสเตรเลียก็เคยประสบความสำเร็จในการศึกษาจีโนมของนัมแบต จนสามารถเพาะพันธุ์และปล่อยคืนสู่ป่าได้กว่า 220 ตัว ในช่วงเวลาเพียง 20 ปี ฉะนั้นความยากที่สุดตอนนี้ก็คือ การตัดต่อดีเอ็นเอของเสือแทสเมเนียให้เข้ากับสัตว์ที่จะเป็นแม่อุ้มบุญให้ได้นั่นเองครับ
ปล. สำหรับโครงการโคลนนิ่งแมมมอธ ตอนนี้ได้รับเงินลงทุนในรูปแบบธุรกิจ Startup รวมแล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทแล้วครับ
อ้างอิง (Ref.) – Cosmos Magazine ,The Guardian , NatGEO