นักวิจัยสำรวจจำนวนประชากรจุลินทรีย์ในมหาสมุทรบนโลก พบว่ามีจำนวนมากถึง 1 พันล้านชนิด จากเดิมที่เคยเข้าใจว่ามี 20,000 ชนิด ซึ่งหากมัดรวมกันคาดว่าอาจมีน้ำหนักมากกว่าช้างแอฟริกัน 2 แสนล้านตัว ! ว่าแต่..การค้นพบนี้สำคัญอย่างไร ? เดี๋ยวเราเล่าให้ฟังครับ
ในการสำรวจนี้มีนักวิจัยกว่า 2,000 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก ที่เข้าร่วมงาน International Census of Marine Microbes (ICoMM) เพื่อร่วมมือกันสำรวจจำนวนประชากรจุลินทรีย์ในมหาสมุทร ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว
การค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพนี้ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลก วัฏจักรคาร์บอน ซึ่งจุลินทรีย์ที่หลากหลายนี้เชื่อมโยงกับพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารบนโลก ไม่เพียงแต่ในทะเลเท่านั้น แต่รวมถึงห่วงโซ่บนพื้นดินด้วย
ถึงจะบอกว่าเป็นกองทัพจุลินทรีย์ที่ซ่อนตัวอยู่ ซึ่งอาจฟังดูน่ากลัวแต่มันไม่ได้เตรียมตัวโจมตีพวกเรานะครับ ทว่าเหล่าจุลินทรีย์พวกนี้ทำหน้าที่เป็นลมหายใจของโลก ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนมันออกซิเจน รวมถึงแร่ธาตุที่สำคัญอื่น ๆ กลับสู่พื้นดิน และวนเข้าสู่วัฏจักรสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลก
“จอห์น บารอส” ประธานสภาที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของ ICoMM จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า “มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ประมาณ 50-90 เปอร์เซนต์ ในพื้นที่ของทะเลทั้งหมด ซึ่งมันไม่ได้อยู่แค่ในน้ำทะเลเท่านั้น แต่ยังเกาะอยู่บนผิวหนังและในลำไส้ของสัตว์ทะเลด้วย”
“มิทช์ โซจิน” นักวิจัยทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ กล่าวเสริมว่า “ในอาณาจักรสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่มีอะไรจะใหญ่กว่าอาณาจักรของจุลินทรีย์อีกแล้ว การมีอยู่ของพวกมันเป็นเหตุผลหลักที่ช่วยให้มนุษย์ยังมีชีวิตรอดอยู่ทุกวันนี้”
Fact – จุลินทรีย์คือสิ่งมีชีวิตที่อึดและอายุยืนมากจนบางครั้งก็แอบคิดว่ามันเป็นอมตะ เพราะนักวิจัยพบ “จุลินทรีย์” ที่ติดอยู่ในผลึกเกลือโบราณเก่าแก่ 200 ล้านปี ซึ่งหลังจากนักวิจัยทดลองให้อาหารเพียงเล็กน้อย พวกมันก็ตื่นและกลับมามีชีวิตเฉยเลย
อ้างอิง (Ref.) – ABC, Hindustan Times, Science Daily