รู้จัก “ตุ่นทองคำ” นักล่าแห่งทะเลทราย ที่แม้สายตาจะแย่-แต่ประสาทสัมผัสน้องโคตรเทพ

นี่คือ “ตุ่นทองคำ” (Chrysochloridae) หนึ่งในนักล่าแห่งทะเลทรายที่มีขนสีทองเป็นประกายแวววาว ที่มีประสาทสัมผัสในระดับสุดยอด ถึงขั้นได้ยินแม้กระทั่งเสียงมดเดินเลยก็ว่าได้ อีกทั้งมันยังสามารถล่าได้แม้แต่งูที่เป็นนักล่าเบอร์ต้น ๆ ของทะเลทรายเลยล่ะ

โดยตุ่นทองคำอาศัยอยู่ในแถบแอฟริกาเขตทะเลทราย เช่นทะเลทรายซาฮารา ทะเลทรายนามิเบีย มีทั้งหมด 21 สายพันธุ์ แต่การพบมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในรอบ 10 ปี จะมีรายงานการพบตุ่นทองคำเพียง 3-5 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากมันจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน มีขนาดตั้งแต่ 8-20 เซนติเมตร

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของตุ่นทองคำก็คือ “สีขน” ที่มีสีทองประกายแวววาวสะท้อนแสง ว่าแต่มันจะมีสีทองไปทำไม เมื่อชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในดิน และไม่ได้ต้องใช้สีสันสะดุดตาเพื่อดึงดูดตัวเมียหรือสื่อสารใด ๆ ? นี่เป็นคำถามที่นักวิจัยต่างสงสัย ทำให้ “แมทธิว ชอว์คีย์” นักสัตววิทยาจาก University of Akron เริ่มศึกษาเพื่อหาคำตอบของเรื่องนี้

โดยชอว์ได้ทำการศึกษาเส้นขนของตุ่นทองคำด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ พบว่า เส้นขนมีลักษณะแบนราบ เรียบเงา เป็นเหตุให้สะท้อนแสงแววาว ใช้ป้องกันน้ำและรีดความชื้นออกจากร่างกาย และช่วยให้ดินทรายไม่ติดตัวในระหว่างขุด กล่าวคือช่วยให้คล่องตัวขึ้นนั่นเอง อีกทั้งยังช่วยป้องกันความร้อนจากทะเลทรายได้ด้วย (น่าเสียดายที่น้องตาบอด เลยไม่รู้ว่าตัวเองมีขนที่สวยงามแบบนี้)

ตุ่นทองคำมีกล้ามเนื้อและหนังที่แข็งแรงมากโดยเฉพาะส่วนหัวและขาหน้าที่ใช้สำหรับขุดดิน อย่างที่กล่าวคือตุ่นทองคำใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในดิน ทำให้ประสาทตาไม่ได้รับการพัฒนา หรือก็คือน้องตาบอดนั่นเอง แต่ว่าสิ่งที่แลกมาคือประสาทสัมผัสที่ไวต่อการสั่นสะเทือนมาก ทำให้ง่ายที่จะระบุตำแหน่งของอาหารและตำแหน่งของนักล่าที่เข้ามาใกล้ได้

อาหารของตุ่นทองคำคือ แมลง ไส้เดือน ตะขาบ สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก รวมถึงงูขนาดเล็กมันก็สามารถกินได้เช่นกัน ซึ่งประสาทสัมผัสของตุ่นทองคำสามารถได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวในระดับมดเดิน ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงการเคลื่อนไหวของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่ามดเลย ปล.ไม่มีข้อมูลว่าระยะการรับรู้ของตุ่นทองคำมีรัสมีกว้างขนาดไหน

นอกจากนี้ ตุ่นทองคำยังเป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการร่างกายให้เหมาะกับทะเลทรายได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ คือมันสามารถเปิดปิดระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้เพื่อประหยัดพลังงาน อีกทั้งระบบไตที่สุดยอดทำให้มันเป็นสัตว์ที่แทบไม่ต้องกินน้ำเลย

ปัจจุบัน มีตุ่นทองคำกว่า 11 สายพันธุ์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียที่อยู่จากการขยายตัวของเมือง การทำเหมืองทราย และการทำการเกษตร ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้ประชากรของตุ่นทองคำลดลงอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง (Ref.) – siamtoo, newscientist, nbcnews

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top