สำรวจ “โลกใหม่” ซ่อนอยู่ใต้น้ำแข็งแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) พบสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เพียบ

นักสำรวจพบ “โลกใหม่” ที่มีระบบนิเวศของตัวเอง ซ่อนอยู่ใต้หิ้งน้ำแข็ง Larsen แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ในทวีปแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) ณ ความลึกประมาณ 450 เมตร ซึ่งข้างใต้เต็มไปด้วยฝูงสิ่งมีชีวิตแบบที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน

หิ้งน้ำแข็ง Larsen ถูกขนานนามว่าเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นร่องลึกที่ทอดยาวไปตามน้ำแข็งในบริเวณที่ใกล้กับแผ่นดินใหญ่ ซึ่งลักษณะที่ผิดปกตินี้นักวิจัยคาดว่าเป็นร่องที่เกิดจากน้ำแข็งละลายกลายเป็นแม่น้ำลึกลงไปใต้น้ำแข็ง ดังนั้นทีมวิจัยจึงลงมือเจาะน้ำแข็งและใช้กล้องลงไปสำรวจ

กล้องปรากฏเป็นภาพเบลอ ๆ มีจุดดำ ๆ ในตอนแรกนักวิจัยคิดว่าอุปกรณ์มีปัญหา แต่หลังจากปรับโฟกัส พบว่าเลนส์กล้องถูกปิดด้วย แอมฟิพอด (Amphipods) สัตว์จำพวกครัสเตเชียน (พวกกุ้ง) ซึ่งนักวิจัยไม่ได้คาดคิดว่าจะพบสิ่งมีชีวิตมากมายขนาดนี้

ภาพจากกล้องสำรวจ ที่เผยให้เห็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียน

เครก สตีเวนส์ นักสมุทรศาสตร์ทางกายภาพจากสถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศแห่งชาติ (NIWA) ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า “การที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มากขนาดนี้ หมายความที่นั่น (ใต้แผ่นน้ำแข็ง) มีระบบนิเวศที่สำคัญเกิดขึ้นอย่างชัดเจน”

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่สงสัยเรื่องนี้มานานแล้วว่าที่บริเวณปากแม่น้ำที่ไหลลงในมหาสมุทร น่าจะมีระบบนิเวศหรือคุณลักษณะบางอย่างที่น่าจะเอื้อต่อการมีชีวิตของสิ่งมีชีวิตได้ แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีใครศึกษาและสำรวจอย่างจริงจัง “ฮาว ฮอร์แกน” หัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้ กล่าวว่า “การค้นพบโลกใหม่นี้เป็นกลุ่มแรกให้ความรู้สึกเหมือนเป็นนีล อาร์มสตรองที่เหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรกอย่างนั้นเลยล่ะ พวกเราดีใจมาก”

เพดานถ้ำน้ำแข็ง

หลังจากส่งกล้องลงไปสำรวจ นอกจากการพบสิ่งมีชีวิตจะทำให้พวกเขาแปลกใจแล้ว ทีมวิจัยยังพบว่าถ้ำใต้น้ำแข็งถูกแบ่งออกเป็น 4-5 ชั้น และเพดานถ้ำน้ำแข็งก็ไม่ได้ราบเรียบเหมือนที่เคยเข้าใจกันมาตลอด หมายความว่าการสำรวจในครั้งนี้ทำให้นักวิจัยรู้ว่าเรื่องที่พวกเขาเข้าใจเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งนั้นผิดมาตลอด

ทั้งนี้ นักวิจัยยังคงศึกษาระบบนิเวศใต้น้ำแข็งนี้ต่อไป พวกเขาหวังจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการหมุนเวียนของสารอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในโลกใต้แข็งนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกังวลว่าอุณหภูมิโลกที่กำลังร้อนขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เพิ่งค้นพบนี้หรือไม่ นี่คือเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปครับ

อ้างอิง (Ref.)  – Livescience, Smithsonianmag, BGR

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top