เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยเห็นภาพห่านบินกลับหัวนี้ผ่านตากันมาบ้างแล้ว มันถูกถ่ายโดยช่างภาพชื่อ “วินเซนต์ คอร์เนลิสเซน” (Vincent Cornelissen) ซึ่งดูแว๊บแรกเหมือนเป็นภาพลวงตา ไม่แน่ใจว่าสรุปห่านตัวนี้มันบินกลับหัวจริง ๆ หรือเราตาฟาด เพราะหัวมันตั้งตรง แต่ปีกและตัวกลับหงายท้อง วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมาไขคำตอบเรื่องนี้ไปด้วยกันครับ
แน่นอนว่า มันไม่ใช่ภาพตัดต่อ และมันก็ไม่ใช่จังหวะการถ่ายภาพที่บังเอิญที่ห่านจะทำท่าแบบนี้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องปกติของสัตว์จำพวกห่าน เป็ด และหงส์ ซึ่งการทำแบบนี้มีชื่อเรียกว่า “Whiffle” เป็นการเบรคความเร็วขณะบินบนอากาศเพื่อจะเทคตัวลงสู่พื้น โดยปกติแล้ว เมื่อห่านกระพือปีก – จะทำให้เกิดแรงดันอากาศใต้ปีกทำหน้าที่ยกตัวห่านให้ลอยขึ้น – แต่เมื่อห่านพลิกตัว 180 องศา – ทำให้จากเดิมอากาศที่ยกตัวห่านขึ้น – ถูกกลับด้านกลายเป็นกดตัวห่านลงสู่พื้นนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ ถึงจะสามารถไขคำตอบเรื่องของอากาศพลศาสตร์ได้แล้ว แต่สิ่งที่ยังคาใจนักวิทยาศาสตร์อยู่ก็คือ ห่านสามารถรักษาหัวของมันให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องได้เสมอ โดยไม่บิดไปพร้อมตัวได้อย่างไร ? และทำไมมันถึงต้องทำแบบนั้นด้วย ? เรื่องนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ศึกษาอย่างจริงจัง จนได้คำตอบว่าความลับอยู่ที่ “คอห่าน” ที่ทำหน้าที่คล้ายกับระบบกันสะเทือนของรถยนต์
โดยงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์งานวิจัยนี้ลงในวารสาร Journal of the Royal Society Interface ที่นำโดย “เดวิด เลนทิงก์” ระบุว่า ทีมงานได้ทำการติดตั้งกล้องตรวจจับแรงสั่นสะเทือนไว้ที่หัวและคอของห่าน เพื่อศึกษากลไกการทำงานว่ามันสอดคล้องกันอย่างไร ซึ่งข้อมูลเผยว่า คอของห่าน สามารถลดการสั่งสะเทือนของร่างกายขณะกระพือปีก-ไม่ให้ส่งไปยังส่วนหัวได้ และยังสามารถรักษาระดับตัวกับหัวให้อยู่ระดับเดียวกันได้ด้วย
การที่มันสามารถทำแบบนี้ได้ เพราะห่านมีกระดูกสันหลังมากกว่ามนุษย์ 3 เท่า และมีมัดกล้ามเนื้อมากถึง 200 มัดในแต่ละด้าน ซึ่งหากจะอธิบายการทำงานของกล้ามเนื้อด้วยก็คงจะซับซ้อนเกินไป แต่สามารถเปรียบเทียบได้ง่ายและเห็นภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับระบบกันสะเทือนช่วงล่างรถยนต์ ระบบนี้จะพยายามรักษาระดับของห้องโดยสารให้คงที่มากที่สุดขณะที่เจอสภาพพื้นผิวขรุขระ เพื่อความนุ่มสบายของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
ในทำนองเดียวกัน ห่านก็ต้องพยายามรักษาระดับของหัวให้คงที่มากที่สุดเพื่อการมองเห็น สามารถกำหนดทิศทางและป้องกันการบินชนกับห่านตัวอื่นด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เวลาบินห่านคงเวียนหัวน่าดู เนื่องจากหัวส่ายขึ้น-ลงตามปีกตลอดเวลา ซึ่งงานนี้ เดวิด เลนทิงก์ มองว่า สามารถนำไปศึกษาพัฒนาระบบกันสั่นสะเทือนในโดรนหรือกล้องโทรศัพท์ได้อีกมากมาย
Fact – เคยสงสัยไหมว่า ? ทำไมห่านหรือนกบางชนิดถึงเกาะกลุ่มบินกันเป็นรูปตัววี (V) เรื่องนี้นักวิจัยจาก Royal Veterinary College ประเทศอังกฤษ ให้คำตอบไว้ว่า เพื่ออาศัยแรงลมจากห่านตัวหน้า เพราะเมื่อห่านกระพือปีก จะทำให้เกิดอากาศไหลออกด้านข้างและด้านหลัง ส่งผลให้อ่านตัวที่อยู่ด้านหลังอาศัยประโยชน์จากอากาศที่ไหลออกมาทำให้ห่านตัวหลังใช้พลังงานในการบินน้อยลง
อีกทั้งการบินแบบนี้ยังช่วยให้สามารถจับกลุ่มกันเป็นฝูงได้ด้วย เพราะมันต้องบินอยู่ในระยะที่ไม่ใกล้และไม่ไกลกันเกินไป เนื่องจากหากอยู่ในไกลไปก็จะไม่ได้รับอากาศที่ไหลออกมาจากห่านตัวหน้า หรือหากอยู่ใกล้ไปก็จะทำให้เกิดแรงต้านอากาศได้ ดังนั้นพวกมันจึงต้องรักษาระยะห่างให้พอดี