รู้จักกับ “นักปีนเขาตัวเปล่า” (Free Solo) พิชิตยอดเขาสูง 1,000 เมตร ได้โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วย

นี่คือ “อเล็กซ์ ฮอนโนลด์” (Alex Honnold) นักปีนเขาตัวเปล่าชื่อดัง (Free Soloing) ที่สามารถพิชิตยอดเขา El Capitan ในอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี สหรัฐอเมริกา ที่ความสูง 3,000 ฟุต (สูงเกือบ 1,000 เมตร) โดยไร้อุปกรณ์ช่วยเหลือ หรือเครื่องมือ safety ใด ๆ ทั้งสิ้น

ทำไมเขาถึงกล้าขนาดนั้น ? นี่เป็นคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวทันทีที่ผม (หรือคุณเอง) เห็นเรื่องนี้ เพราะเดิมทีการปีนเขาปกติ ก็นับว่าเป็นกีฬาที่ความเสี่ยงสูงมากอยู่แล้ว แม้จะมีอุปกรณ์ safety ก็ตาม แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับการ Free Soloing เพราะหากพลาดนิดเดียว = ความตายทันที

แน่นอนว่าคำถามนี้ฮอนโนลด์ถูกถามนับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน เขากล่าวกับ National Geographic ว่า “ผมแค่รักในการปีนเขา ไม่ใช่ว่าการทำแบบนี้มันเท่หรือตื่นเต้นดี แต่ผมทำไปเพียงเพราะผมรักที่จะทำมันแค่นั้นเอง” โดยฮอนโนลด์เริ่มปีนเขาตั้งแต่เด็กพร้อมพ่อ จนกระทั่งกลายมาเป็นนักปีนเขาเต็มตัวเมื่อโตขึ้น เขาพิชิตหน้าผามาแล้วมากมายทั่วโลก และความท้าทายล่าสุดคือการพิชิตยอดเขา El Capitan

โดยการปีนเขาในครั้งนี้ ฮอนโนลด์ต้องเตรียมตัวนานอยู่หลายปี เขาศึกษาเส้นทางและซ้อมปีนขึ้นลงด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือจนชำนาญเส้นทาง จนกระทั่งในปี 2015 เขาตัดสินใจที่จะพิชิตมันด้วยตัวเปล่า ซึ่งถูกถ่ายทำออกมาเป็นสารคดีของ National Geographic ชื่อเรื่อง “Free Solo” โดยมีทีมงานเป็นนักปีนเขาระดับโลกมาช่วยในการถ่ายทำให้

ในการถ่ายทำทีมงานต้องระมัดระวังสูงมากเพื่อไม่ไปรบกวนสมาธิของฮอนโนลด์ มีข้อห้ามมากมายในระหว่างการถ่ายทำ เช่น ห้ามกระซิบกัน ห้ามจาม เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด เพราะการทำให้ฮอนโนลด์เสียสมาธิเพียงนิดเดียวจะเท่ากับความตายทันที โดยฮอนโนลด์ใช้เวลาปีนตั้งแต่ตีนเขาจนถึงยอดเขาด้วยเวลา 4 ชั่วโมง

ฮอนโนลด์มั่นใจมากว่าเขาจะไม่ตกจาก El Capitan แน่นอน เขากล่าวว่า “ผมทราบดีว่ามีนักปันเขาตัวเปล่ามากมายที่เสียชีวิตจากการตกเขา แต่สำหรับผมแล้ว ด้วยการฝึกฝนจนชำนาญทำให้ความอันตรายของ El Capitan น้อยลงจนผมไม่กลัวแล้ว” โดยแฟนสาวของฮอนโนลด์กล่าวว่า “Free Solo สำหรับฮอนโนลด์เป็นเหมือนความรักมากกว่ากีฬาเสียอีก”

สุดท้าย สำหรับภาพยนตร์สารคดี Free Solo ถูกฉายเมื่อปี 2018 ประสบความสำเร็จและได้รับคำชมมากมาย นอกจากภาพที่สวยงามแล้ว ท่วงท่าการปีนของของฮอนโนลด์ก็สวยงามไม่แพ้กัน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาสารคดียอดเยี่ยมอีกด้วย

อ้างอิง (Ref.) – NationalGeographic, The Atlantic, The Guardian

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top