(หายาก) นักตกปลาบังเอิญพบ “ปลาสีทอง” ขนาดใหญ่ มีโอกาสเกิดเพียง 1 ใน แสนตัวเท่านั้น

เมื่อปี 2021 ระหว่างที่ “มาร์ติน กลาทซ์ และโอลิเวอร์ กลาทซ์” พี่น้องฝาแฝดนักตกปลาที่ออกไปตกปลาในทะเลสาบแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ จู่ ๆ ก็มี “ปลาดุกสีทอง” กระโดดขึ้นมาบนเรือ ซึ่งปลาดุกสีพิเศษนี้ไม่ใช่ปลาเทพ แต่เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม !

โดยปลาดุกที่ทั้งคู่พบคือ “ปลาดุกเวลส์” (Wels Catfish) ชื่อวิทยาศาสตร์ Silurus glanis เป็นสายพันธุ์ปลาดุกขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในทะเลสาบและแม่น้ำทั่วยุโรป ปลาดุกชนิดนี้ขึ้นชื่อเรื่องขนาดมหึมา พวกมันสามารถโตได้อย่างต่ำ 2.7 เมตร หนักเกือบ 130 กิโลกรัม อ้างอิงข้อมูลจาก NOAA โดย มาร์ติน กลาทซ์ กล่าวว่า “ตลอดชีวิตการตกปลาผมเพิ่งเคยเห็นปลาดุกเวลส์สีทองแบบนี้เป็นครั้งแรก”

ปกติแล้วปลาดุกเวลส์จะมีลำตัวสีเขียวแกมดำ มีลายจุดสีเหลืองเล็กน้อย แต่ปลาดุกเวลส์สีทองแบบนี้เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า “Leucism” (ภาวะด่าง) เป็นโรคทางพันธุกรรมหายากที่เมลานินไม่สามารถผลิตเม็ดสีดำออกมาได้  โรคนี้จะต่างจาก “โรคผิวเผือก” (Albinism) ที่ร่างกายจะไม่สามารถสร้างเม็ดสีใด ๆ ได้เลย (สังเกตง่าย ๆ คือ ถ้าเป็นภาวะเผือกตาจะเป็นสีแดง)

หลังถ่ายรูปเสร็จ พวกเขาก็ปล่อยมันกลับสู่ทะเลสาบตามเดิม

ในมุมมองของมนุษย์สีทองแบบนี้ดูแปลกและสวยงาม แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมันค่อนข้างใช้ชีวิตลำบากมากและเสี่ยงอันตรายมาก เพราะสีโดดเด่นแบบนี้จะตกเป็นเป้าของนักล่าได้ง่าย โชคดีที่ตัวที่ฝาแฝดกลาทซ์พบสามารถรอดชีวิตและมีขนาดใหญ่เท่านี้ได้ ซึ่งหลังจากทั้งคู่ถ่ายรูปเสร็จ พวกเขาก็ปล่อยมันกลับลงแม่น้ำตามเดิม และหวังว่าในอนาคตอาจเจอมันที่มีขนาดใหญ่กว่านี้

เพิ่มเติม : ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดสีเหลืองทองแบบนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์ทุกชนิด (แต่ก็ไม่ได้เป็นสีทองเสมอไป) อย่างเช่นที่ Flagfrog เคยนำเสนอไปเมื่อปีที่แล้วคือ “เพนกวินสีทอง” ที่ถูกพบโดยช่างภาพชาวเบลเยียม ระหว่างสำรวจประชากรเพนกวินราชาบนเกาะแห่งหนึ่งในเซาท์จอร์เจีย (South Georgia)

เพนกวินสีทองที่เกิดจากความผิดปกติภาวะ Leucism

โอกาสเกิดเพนกวินสีทองแบบนี้ มีเพียง 1 ใน 20,000-146,000 ตัวเท่านั้น หมายความว่า ในเพนกวิน 1 ฝูง จะมีเพียง 1 ตัวเท่านั้น ที่มีลักษณะสีทองเช่นนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการพบเพนกวินสีทองครั้งแรกในปี ค.ศ.1988 และอีกครั้งคือในปี ค.ศ.2000 แต่ทั้ง 2 ครั้งนั้นไม่มีรูปถ่ายยืนยันแต่อย่างใด

อ้างอิง (Ref.) – Livescience, Livescience 2, NOAA

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top