ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี-ค้นพบ “สระน้ำมรณะ” (Death Pool) ที่ใต้ก้นทะเลแดง (Red Sea) เป็นสระน้ำเกลือขนาดยาว 3 เมตร ที่ปราศจากออกซิเจนและระดับความเค็มที่สูงจนเป็นอันตราย หรือที่เรียกว่า “ไฮเปอร์ซาลีน” (hypersaline) สามารถฆ่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่เผลอลงไปในสระมรณะนี้ได้

ทีมวิจัยค้นพบสระมรณะนี้ในปี 2020 ที่ระดับความลึก 1,770 เมตร ในอ่าวอควาบา ทะเลแดง ด้วยการใช้หุ่นยนต์สำรวจควบคุมระยะไกล (ROV) ภายใต้โครงการ OceanXplorer ถูกตั้งชื่อว่า “NEOM Brine Pools” โดยศาสตราจารย์ “แซม เพอร์คิส” ผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า “นอกจากมันจะไม่มีออกซิเจน มันยีงมีสารเคมีไฮโดรเจนซัลไฟด์ ที่เป็นพิษอีกด้วย”
สิ่งที่น่าสนใจนอกจากความน่าสะพรึงของมันก็คือ สภาพแวดล้อมของสระมรณะนี้ที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่มันก่อตัวขึ้นมา นั่นหมายความว่านี่เป็นเสมือนสมุดบันทึกที่สามารถช่วยให้นักวิจัยเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาจจะตั้งแต่เมื่อหลายพันจนถึงหลายล้านปีก่อน และอาจให้ความกระจ่างเกี่ยวกับต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกเลยก็เป็นได้

เฮ้ย ! ไม่เว่อไปหน่อยหรอ ? แอ่งน้ำเค็มนี้มันจะเปิดเผยข้อมูลโลกขนาดนั้นเลยหรอ ? โดยเพอร์คิสให้คำตอบว่า “ความเข้าใจในปัจจุบันของเราคือสิ่งมีชีวิตมีต้นกำเนิดมาจากมหาสมุทร ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนเหมือนกัน ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีสระมรณะนี้อาจจะจำลองสภาพทะเลในโลกยุคแรกก็เป็นได้” นอกจากนี้ ยังพบจุลินทรีย์ชื่อ“Extremophile” ซึ่งไม่แน่ว่ามันอาจทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกก็ได้
โดยสาเหตุที่ทำให้สระมรณะแห่งนี้คงสภาพไว้ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือความอันตรายของมันนั่นแหละ ทำให้ไม่มีปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาทำให้ตะกอนหรือเกลือที่สะสมถูกรบกวน ดังนั้นมันจึงสามารถเก็บรักษาสภาพแวดล้อมทุกสิ่งอย่างที่เคยตกลงมายังแอ่งน้ำนี้ได้นั่นเอง

จากตัวอย่างที่นักวิจัยสกัดจากสระน้ำมรณะนี้ ค้นพบว่า มันเก็บสะสมปริมาณน้ำฝนในภูมิภาคย้อนหลังไป 1,000 ปี รวมถึงยังบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิไว้ด้วย ซึ่งผลการทดลองสรุปออกมาได้ว่า ในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่จากฝนตกหนักทุก ๆ 25 ปี และเกิดสึนามิทุก ๆ 100 ปี
นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น นักวิจัยเชื่อว่าหากศึกษาลงลึกมากกว่านี้มันอาจเปิดเผยข้อมูลโลกย้อนหลังไปนับล้านปีเลยก็เป็นได้ เพอร์คิสกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในอนาคตเราหวังจะกลับไปที่สระมรณะนั้นอีกครั้ง และเก็บตัวอย่างด้วยอุปกรณ์ขุดเจาะที่ซับซ้อนมากขึ้น เชื่อว่ามันยังมีข้อมูลน่าสนใจที่รอให้เราค้นพบอยู่อย่างแน่นอน”
อ้างอิง (Ref.) – livescience, unilad, timesnownews